“อดีต พนง.” แฉ “เฟซบุ๊ก” จ้องแต่ทำกำไร ปล่อยเด็กหญิงถูกบุลลี่ – ละเลยไม่สกัดเฮตสปีช

Exclusive ไอที

อดีตพนักงานที่เป็นผู้เปิดโปงเฟซบุ๊ก ออกโรงเปิดหน้าโจมตียักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรายนี้เห็นแก่กำไรมากกว่าพยายามขัดขวางการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และการบุลลี่เด็กสาว

(5 ต.ค. 2564) ฟรานเชส โฮเกน วัย 37 ปี ที่เคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ทีมจัดการการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ของเฟซบุ๊ก ปรากฏตัวในรายการ “60 มินิตส์” ซึ่งทางเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐฯ นำออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (3 ก.ย.) โดยเปิดเผยว่า ตนคือผู้เปิดโปงที่ส่งเอกสารข้อมูลจนนำไปสู่การสืบค้นของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล และการจัดสอบสวนของวุฒิสภาเกี่ยวกับอันตรายต่อเด็กสาวบนอินสตาแกรม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในเครือเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊กถูกโจมตีอย่างหนักหลังจากหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเผยแพร่เรื่องราวมากมายที่อิงกับการนำเสนอและอีเมลภายในบริษัท ซึ่งฟ้องให้เห็นว่า ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรู้ดีว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งรวมถึงอินสตาแกรม เป็นอันตรายต่อเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ภาพเรือนร่าง

โฮเกนที่ก่อนหน้านี้ยังเคยทำงานให้กับกูเกิลและพินเทอเรสต์ด้วย กล่าวกลางรายการ 60 มินนิตส์ว่า เฟซบุ๊กเลวร้ายกว่าสิ่งใดๆ ที่เธอเคยเจอมา และสำทับว่า เฟซบุ๊กโกหกสังคมเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดการกับการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังและการเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดบนแพลตฟอร์มต่างๆ ของตน

เธอแจงว่า เฟซบุ๊กเวอร์ชั่นปัจจุบันทำให้สังคมแตกเป็นเสี่ยง และกระตุ้นการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลก

โฮเกนเผยว่า การวิจัยของเฟซบุ๊กพบว่า การปลุกเร้าคนให้โกรธง่ายกว่าการปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ และบริษัทตระหนักว่า ถ้าเปลี่ยนอัลกอริธึมให้ปลอดภัยขึ้น คนจะใช้เฟซบุ๊กและคลิกโฆษณาน้อยลง ส่งผลให้รายได้ของบริษัทลดลง

เธอยังบอกอีกว่า ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 เฟซบุ๊กตระหนักถึงอันตรายจากเนื้อหาที่กระตุ้นความเกลียดชังจึงเปิดระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อสกัดเนื้อหาเหล่านั้น แต่ทันทีที่การเลือกตั้งจบลง บริษัทก็ปิดระบบรักษาความปลอดภัยและกลับไปให้ความสำคัญกับการเติบโตมากกว่าความปลอดภัย

แม้เชื่อว่า ไม่มีใครในเฟซบุ๊ก “ชั่วร้าย” แต่โฮเกนบอกว่า บริษัทจัดการกับมาตรการจูงใจอย่างผิดพลาด

ฟรานเชส โฮเกน ผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของ “เฟซบุ๊ก” ให้สัมภาษณ์ในรายการ “60 มินิตส์” ของฝ่ายข่าวเครือข่ายทีวี ซีบีเอส (ภาพเผยแพร่โดยรายการ “60 มินิตส์”)
ฟรานเชส โฮเกน ผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของ “เฟซบุ๊ก” ให้สัมภาษณ์ในรายการ “60 มินิตส์” ของฝ่ายข่าวเครือข่ายทีวี ซีบีเอส (ภาพเผยแพร่โดยรายการ “60 มินิตส์”)

ทั้งนี้ โฮเกนกำหนดไปให้ปากคำต่อคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาในวันอังคาร (5) ในหัวข้อ “การปกป้องเด็กในระบบออนไลน์” ว่าด้วยการวิจัยของเฟซบุ๊กเกี่ยวกับผลกระทบจากอินสตาแกรมต่อเด็ก

เธอกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า มีผลประโยชน์ขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ดีต่อสังคมกับสิ่งที่ดีต่อเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊กเลือกให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น การเพิ่มรายได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

ด้านเฟซบุ๊กออกคำแถลงตอบโต้หลังรายการ 60 มินนิตส์ออกอากาศ โดยยืนยันว่า บริษัทยังคงปรับปรุงแนวทางในการจัดการกับการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และเนื้อหาที่เป็นอันตรายอยู่อย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้ารายการดังกล่าวออกอากาศ นิก เคล็กก์ รองประธานฝ่ายนโยบายและกิจการทั่วโลกของเฟซบุ๊ก ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า น่าขำที่มีการเหมาว่า เหตุจลาจลบุกสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. เป็นฝีมือโซเชียลมีเดีย

ขณะเดียวกัน จอห์น ไท ผู้ก่อตั้งวิสเติลโบลเวอร์ เอด องค์กรทางกฎหมายไม่หวังผลกำไร ซึ่งมุ่งช่วยเหลือผู้อยู่ในองค์การต่างๆ ที่มุ่งเปิดโปงความไม่ชอบมากลขององค์การนั้นๆ ยืนยันข่าวในนิวยอร์กไทมส์ ที่ว่า เอกสารภายในของเฟซบุ๊กบางส่วนได้ถูกส่งต่อให้อัยการในหลายรัฐแล้ว เช่น แคลิฟอร์เนีย เวอร์มอนต์ และเทนเนสซี

ไทเสริมว่า ได้ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) บนหลักการที่ว่า บริษัทมหาชนอย่างเฟซบุ๊กต้องไม่โกหกนักลงทุนหรือแม้แต่ปกปิดข้อมูลสำคัญ

ในคำร้องมีการเปรียบเทียบผลวิจัยภายในของเฟซบุ๊กกับคำแถลงที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นที่ทำวิจัย

ไทสำทับว่า โฮเกนได้หารือกับสมาชิกรัฐสภาในยุโรป และมีกำหนดให้การต่อรัฐสภาอังกฤษปลายเดือนนี้ โดยหวังว่า จะนำไปสู่การดำเนินการตามกฎระเบียบ

เขาและโฮเกน ยังต้องการพูดคุยกับสมาชิกรัฐสภาในเอเชีย เนื่องจากหลายประเด็นที่กระตุ้นให้โฮเกนออกมาเปิดโปงนั้นเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี / https://www.mgronline.com/around/detail/9640000098380)