คำต่อคำ “ผอ.เขตสาทร” ชาติชาย กุละนำพล ปมเผือกร้อน ชุมชน VS ตึกสูง

เรื่องน่าสนใจล่าสุด

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์
ต้องยอมรับว่า ความเป็นชุมชนดั้งเดิมอาจต้องแปรเปลี่ยนไปตามสภาพความเจริญของเมืองที่ต่างเน้นและมุ่งสร้างอาคารใหญ่ ๆ เป็นสัญลักษณ์ นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์ของที่ดินหรือพื้นที่เต็มจำนวนแล้ว ยังบ่งบอกถึงความเป็นศิวิไลซ์ ไม่เฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่เป็นทุกแห่งในโลก

แต่การก่อสร้างอาคารสูงในเขตใจกลางเมืองหลวงอย่าง กทม.ยังคงเป็นปัญหาโลกแตก เพราะมีประเด็นร้องเรียนต่อเนื่องอยู่ตลอดจากกลุ่มชาวบ้าน และชุมชนข้างเคียงที่รู้สึกว่า ได้รับผลกระทบจากโครงการใหม่ ๆ และใหญ่ ๆ เหมือนถูกลิดรอนสิทธิ์ ทำให้การใช้ชีวิตดูไม่เหมือนเดิม ทั้งสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่

ฉะนั้น ทุกประเด็นจึงต้องว่าไปตามกฎหมายที่เป็นตัวกำหนดและข้อบังคับ รวมไปถึงการตีความของผู้มีอำนาจ

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชาติชาย กุละนำพล” ผู้อำนวยการเขตสาทร หนึ่งในเขตทำเลทอง ใจกลางเมือง สังกัด กทม. ที่กำลังได้รับโจทย์ท้าทายจากปัญหาตึกสูง ท่ามกลางข้อพิพาทของผู้ประกอบการ เจ้าของโครงการ กับกลุ่มชุมชนเก่าแก่ เป็นความในใจแบบคำต่อคำ และข้อเท็จจริงบนหลักการของตัวบทกฎหมาย

Q : เรื่องร้องเรียนย่านงามดูพลี
รับทราบมาพักใหญ่แล้ว ผมได้รับหนังสือร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ก็ได้ทำการบ้าน สอบถามรายละเอียด และลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เดินเข้าสาทรซอย 1 มาทะลุแยก 2 หรือซอยเกอเธ่ เดินลัดเลาะตามซอยที่ว่ามาเรื่อย ๆ จนถึงซอยงามดูพลี และออกมาถนนใหญ่พระรามสี่

ยอมรับว่าช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รถติดมาก เพราะทุกคนทุกคันใช้เป็นทางลัด วิ่งวนเป็นวงกลม และเป็นจุดเชื่อมออกได้หลายทาง ทั้งเย็นอากาศ นางลิ้นจี่ ทุ่งมหาเมฆ และถนนนราธิวาสราชนครินทร์

ผมเข้าใจความรู้สึกของชุมชน เหมือนเราอยู่บ้านแนวราบมานาน วันดีคืนดี อาจมีตึกใหญ่มาเป็นเพื่อนบ้าน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ถ้าทุกอย่างมีการขออนุมัติถูกต้องตามตัวบทกฎหมายที่กำหนด เราก็ต้องยอมรับ

Q : ความคืบหน้าของการแก้ปัญหา
ที่ผ่านมาผมก็ได้คุยกับคุณต่อ สันติสิริ ในฐานะตัวแทนชุมชนซอยเกอเธ่ เพราะปัญหาเกิดในพื้นที่ที่ผมปกครองก็ต้องลงไปดูรายละเอียด ดูข้อเท็จจริง ผมไม่ได้เงียบ หรือนิ่งนอนใจ หลังข่าวออกไป คนก็เข้าใจคลาดเคลื่อน

ซึ่งแท้จริงแล้ว ตามอำนาจที่ผู้อำนวยการเขตสามารถอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการได้นั้นคือ ตึก 8 ชั้น หรือสูงประมาณ 24-26 เมตรเท่านั้น ถ้าอาคารสูงเกินกว่านี้จะต้องขออนุญาตไปที่สำนักการโยธา กทม. รวมไปถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย

ที่สำคัญยังมีคณะกรรมการอีกหลายชุดสำคัญในการพิจารณาแต่ละขั้นตอน ทั้งการขออนุญาตก่อสร้าง การรายงานสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาคาร และกฎหมายอื่น ๆ ที่บัญญัติถึงเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินอีกจำนวนมากมาย และแต่ละฉบับยังมีกฎกระทรวงที่ออกตามอำนาจแห่งพระราชบัญญัติอีกด้วย จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกอย่างมีที่มาที่ไป

จากเคสตึกสูงย่านงามดูพลีกับซอยเกอเธ่ ในข้อเท็จจริงเอกชนได้ทำตามข้อกำหนดกฎหมายควบคุมอาคารและอีไอเอ ผมจึงต้องลงรายละเอียด สั่งทีมงาน เจ้าหน้าที่ช่วยกันกวดขันดูว่า เอกชนทำตามกฎและมาตรการหรือไม่ในระหว่างการก่อสร้าง เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ทั้งเรื่องเสียงขณะตอกเจาะเสาเข็มเกินมาตรฐานไปรึเปล่า ฝุ่นละอองในไซต์งาน รวมถึงขี้โคลน ฝุ่นที่ติดมากับล้อรถ อะไรพวกนี้ เราก็เข้มงวด เอกชนโดยกลุ่มที่ปรึกษาและรับเหมางานก็ปฏิบัติได้ตรงตามมาตรฐาน

ถ้าจะมีก็พบจุดเดียวที่เป็นปัญหา คือปกติการก่อสร้างต้องล้อมรั้วให้รั้วสูงถึง 6 เมตรตามที่ราชการกำหนด กับโครงการนี้วันนั้นพบว่ามีช่องโหว่จุดเล็ก ๆ ที่รั้วไม่ถึง 6 เมตร ผมก็สั่งให้หยุดงาน ปิดไซต์ก่อสร้างไป 5 วัน

Q : แล้วจุดอื่น ๆ
ตามที่ชุมชนเกอเธ่เข้าใจ เมื่ออาคารห่างจากขอบถนนตรงข้าม 13 เมตร คือ ถนนกว้าง 6 เมตร บวกอีก 7 เมตรที่เว้นห่างถนน ตัวอาคารจะสามารถสร้างตึกสูงได้เพียง 2 เท่า คือ 26 เมตรเท่านั้น จะสูงตามแบบในโครงการไม่ได้เลย

แต่เหตุผลที่เอกชนสร้างได้สูง 194 เมตร เพราะเจ้าของโครงการถือเอาถนนงามดูพลีเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อผนังอาคารห่างขอบถนนตรงข้ามของงามดูพลีถึง 78 เมตร แล้วกว้างต่อไปอีก 57 เมตร ความสูง 2 เท่า จึงขึ้นได้สูงสุดเกิน 200 เมตร ตามความเห็นของสำนักงานควบคุมอาคาร โดยสำนักการโยธา กทม. หนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2563 ว่าการวางตัวอาคารนั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

ส่วนกฎหมายกำหนดความสูงของอาคารนั้นคือ กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มีข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง 3 ข้อ คือ ข้อ 44, ข้อ 45 และข้อ 46

กรณีนี้เอกชนได้ยึดข้อ 46 คือ อาคารหลังเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่มุมถนนสาธารณะ 2 สายขนาดไม่เท่ากัน ความสูงของอาคาร ณ จุดใดต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบที่ใกล้ที่สุด จากจุดนี้ไปตั้งฉากกับแนวเขตสาธารณะด้านตรงข้ามของสายที่กว้างกว่า และความยาวของอาคารตามแนวถนนสาธารณะที่แคบกว่า ต้องไม่เกิน 60 เมตร

จุดนี้สำคัญ ชุมชนชี้ว่า ซอยเกอเธ่เป็นถนนที่ใกล้ชิดตัวอาคารโครงการที่กำลังก่อสร้างมากที่สุด ควรนำข้อ 44 มาใช้ คือ ถือถนนซอยเกอเธ่เป็นฐานกำหนดความสูงอาคาร โครงการนี้ก็จะสร้างสูงได้เพียง 26 เมตร ไม่ใช่เกือบ 200 เมตรตามแบบ

เมื่อต่างฝ่ายต่างตีความโดยยึดหลักคนละมุมก็กลายเป็นปัญหาที่เห็นอยู่ รวมไปถึง setback line หรือระยะถอยร่นด้วย

Q : ทางออกต่อไป
ผมได้นัดให้ทุกฝ่ายมาเจรจากันแล้ว เพื่อร่วมหาทางออก ทั้งผู้แทนชุมชน บริษัทผู้รับเหมา และเจ้าของโครงการ โดยเขตจะรับฟังคำชี้แจงคลายข้อสงสัยในทุกประเด็น เพื่อให้ทุกฝ่ายไปต่อได้ พร้อมมาตรการเยียวยา ใจเขาใจเรา

Q : เลขาฯแจ้งว่า ผอ.เพิ่งย้ายมาได้ 3 เดือน
(หัวเราะ) ครับ คำสั่ง กทม.ที่ 1997/2564 ประกาศย้ายข้าราชการตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อเดือนตุลาคม 2564 มีทั้งหมด 18 ท่าน ตัวผมอยู่เขตป้อมปราบฯ ระยะสั้น ๆ แค่ 35 วัน แล้วย้ายมาที่เขตสาทร ก็เลยมาเจอเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้เคยอยู่เขตคลองสาน เขตคลองเตย ฯลฯ

ตอนนี้เป็น ผอ.เขตเดินดิน (หัวเราะ) ตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม.ที่ให้ ผอ.ทุกเขตเดินตามตรอกซอกซอย นำทีมตรวจความเรียบร้อยพื้นที่รับผิดชอบ รับฟังปัญหาความเดือดร้อนในทุก ๆ ด้าน ตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ ซ่อมแซมทางเท้า จัดระเบียบสายสาธารณูปโภคที่รกรุงรังจะเร่งเดินสำรวจให้ครบ 253 ซอยในเขตสาทรทั้งหมด

 

ไฮโซ “เกอเธ่” ร้องโฮ สร้างโรงแรมสูงในซอยแคบ
กำลังเป็นประเด็นร้อน ปัญหาการก่อสร้าง “ตึกสูง” กับ “ชุมชน” รายล้อม

โดยเฉพาะกลุ่มไฮโซไซตี้ ชุมชนเกอเธ่ ในซอยสาทร 1 แยก 2 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบ้านอยู่อาศัยของคนมีฐานะ มีความรู้ และมีชื่อเสียงในวงสังคม ที่ออกโรงรวมตัวกันคัดค้านการสร้างโรงแรมใหม่แห่งหนึ่งที่กำลังก่อสร้างอยู่ในย่านงามดูพลี

นำทีมโดย นายต่อ สันติศิริ และ หม่อมหลวงภาวิณี ศุขสวัสดิ์ สันติศิริ ในฐานะตัวแทนชุมชนซอยเกอเธ่ ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการใหม่ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ในซอยแคบอย่างซอยเกอเธ่

 

เพราะปกติการจราจรในทำเลดังกล่าวแออัดอยู่แล้วในชั่วโมงเร่งด่วน อาจจะยิ่งติดหนักกว่าเดิมอีก จึงทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้อำนวยการเขตสาทร ขอให้สั่งระงับการก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย ตามเอกสารแนบ

พร้อมกำชับให้หน่วยงานราชการเคร่งครัดเรื่องการออกใบอนุญาตสร้างอาคารที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปมปัญหาสังคม

ทั้งนี้ กลุ่มชุมชนในซอยดังกล่าวที่ลงชื่อคัดค้านบิ๊กโปรเจ็กต์มีทั้งหมด 19 คน ประกอบด้วย ม.ล.สุธานิธิ จิตรพงศ์, นางสาวมัลลิกา จันทร์หอม, นางสาวธัญญพัทธ์ ปฐมพงศ์โกสิน, นางสาวรวิพรรณ นิลพาทย์, นายทองปอนด์ คุณหาวงศ์, ม.ล.จิตตรส จิตรพงษ์, ม.ร.ว.พันธุ์เพ็ญ สนิทวงศ์, นางศิริธนว์ เจียมศิริเลิศ, นางสุดแสวง พูลภักดี, นางทิพยกมล เหมาะสม, นางพิสันธนีย์ ศรีดุรงฤทธ์, คุณต้องหทัย สุธีวงศ์, คุณเสริมศรี สุธีวงศ์, คุณวรณัฐ วรพิทักษ์, นายศุภกร กิจครากร, นายณัฐชัย สุวรรณฤกษ์, นายประเสริฐ จงอุดมทรัพย์, นายภูมิพัฒน์ พรรณกิจ และนายเจน วองอิสริยะกุล

ปมประเด็นคือ การตีความเรื่องการกำหนดความสูงของตัวอาคารและระยะถอยร่นนั้น กำหนดจากจุดใด ถนนไหน (เป็นหลัก) และใช้ข้อบังคับกฎหมายฉบับใด ใครรับผิดชอบ

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/property