“อัคราฯ พร้อมกลับมาดำเนินการเหมืองแร่ทองคำหลังกระทรวงอุตสาหกรรมต่ออายุประทานบัตร 4 แปลงออกไปอีก 10 ปีและใบอนุญาตประกอบโลหกรรม 5 ปี ลั่นพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัดดูแลสุขภาพชุมชนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าจ้างงานช่วยฟื้นฟู ศก. กพร.รอให้เอกชนแจ้งลงทุนอีกครั้ง พร้อมเล็งตั้งคณะกรรมการติดตามดึงชุมชนร่วมหวังคดีฟ้องร้องแนวโน้มจะดีขึ้น
นายสิโรจ ประเสริฐผล กรรมการบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด (“คิงส์เกต”) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส ฯ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ได้รายงานถึงการที่บริษัทได้รับอนุญาตการต่ออายุประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน จำนวน 4 แปลง ออกไปอีก 10 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2574 และการได้รับอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมออกไปอีก 5 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2570 นั้น บริษัทขอขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลไทยที่พิจารณาข้อเท็จจริงด้วยความเป็นธรรมให้แก่บริษัทเพื่อให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง และยืนยันว่าด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานระดับสากล และหลักในการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ให้ความสำคัญต่อการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานของบริษัทไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่บริษัทได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม โดยบริษัทได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 รวมทั้งได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นายสิโรจกล่าว
ทั้งนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการผลิตทองคำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน มุ่งเน้นส่งเสริมการปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานสากลด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีพันธกิจหลัก ดังนี้ รักษาไว้ซึ่งสถิติการเป็นผู้ประกอบการ “เหมืองแร่ทองคำที่มีความปลอดภัยสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก”
ยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ร่วมพัฒนาศักยภาพการผลิตทองคำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตทองคำอย่างครบวงจร สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น แผนพัฒนาพื้นที่โครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญประจำจังหวัด เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน แม้เมื่อเหมืองเสร็จสิ้นการดำเนินงานในอนาคต เป็นต้น
นอกจากนี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยทำให้กระทบต่อแรงงานถูกเลิกจ้าง บริษัทจึงมุ่งหวังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ไปต่ออย่างแข็งแกร่งผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่ผ่านมา บริษัทได้สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศไทย เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจต่อเนื่องในประเทศไทยเป็นเงินกว่า 32,000 ล้านบาท การชำระค่าภาคหลวงกว่า 4,500 ล้านบาท โดยร้อยละ 50 ของค่าภาคหลวงถูกจัดสรรให้แก่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเหมืองเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน การจ้างงานโดยตรงและผ่านผู้รับเหมาของบริษัท โดยจ่ายค่าตอบแทนกว่า 1,800 ล้านบาท จากการจ้างพนักงานกว่า 1,000 คน ซึ่งร้อยละ 99 เป็นคนไทย และส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่โครงการ ฯลฯ นอกเหนือจากการสมทบเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทยังคงให้การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและกิจกรรมเพิ่มเติมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ สังคม การศึกษา และศาสนากว่า 400 ล้านบาท
“บริษัทขอถือโอกาสนี้ยืนยันอีกครั้งว่า บริษัทปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด การดำเนินงานของบริษัทไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ซึ่งมีเอกสารวิชาการที่จัดทำโดยคณะบุคคลและหน่วยงานที่เป็นกลางสนับสนุนข้อเท็จจริงนี้เป็นจำนวนมาก เช่น โครงการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่แหล่งแร่ทองคํา จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าค่าการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่บริเวณโครงการไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากพื้นที่อื่นที่อยู่ไกลออกไป ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการของบริษัทปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสูงสุด จึงจัดให้มีการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมการตรวจวัดคุณภาพดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน อากาศ ทั้งในพื้นที่โครงการและบริเวณโดยรอบ ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญและบริษัทชั้นนำระดับโลก” นายสิโรจกล่าว
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า
ใบอนุญาตทั้ง 4 ใบที่ทาง บมจ.อัคราฯ ได้นั้นเป็นการยื่นตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 และเป็นใบอนุญาตเดิมที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นขออนุญาตไว้ ไม่มีพื้นที่ใหม่ซึ่งการอนุญาตครั้งนี้เป็นการยืนยันและพิสูจน์ว่าทาง กพร.ให้ความเป็นธรรมต่อบริษัทฯ โดยขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายของไทย และขณะนี้รอให้อัคราฯ แจ้งมาว่าจะเข้ามาดำเนินการลงทุนเมื่อไร โดยก่อนที่จะลงทุน ทาง กพร.จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อติดตามตรวจสอบการประกอบกิจการ จะมีตัวแทนชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมด้วย
“แนวโน้มการฟ้องร้องเชื่อว่าจะดีขึ้น ตามหลักการแล้ว ถ้าสามารถตกลงกันได้ก็อาจจะมีการถอนฟ้องหรือจบคดีร่วมกันด้วยดีเพราะไม่มีเรื่องอะไรที่จะฟ้องร้องกันอีกส่วนเดตไลน์คณะอนุญาโตฯ 31 ม.ค.นี้ตอนนี้อยู่ระหว่างตกลงกันจะขอขยายเวลาออกไปอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ กพร.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามความเป็นอยู่ชาวบ้านในพื้นที่หลังจากผู้ประกอบการหยุดดำเนินการ และได้สอบถามชาวบ้านพบว่า ส่วนใหญ่อยากให้บริษัทกลับมาดำเนินกิจการ เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนส่วนการที่บริษัทฯ จะกลับมาดำเนินการเมื่อไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบริษัทฯเป็นสำคัญ” นายนิรันดร์กล่าว
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business