ฟองสบู่ “บิตคอยน์” ยังไม่แตก และจะไม่ลงไปต่ำกว่า 600,000 บาท

การเงิน

(24 ม.ค.64) ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการเว็บเทรด Satang Pro กล่าวถึงสถานการณ์ที่ราคาบิตคอยน์ ร่วงลงต่ำกว่า $30,000 ในวันนี้ (22 มกราคม 64) ว่า “ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาราคาบิตคอยน์ขึ้นเร็วมาก จนหลายคนมองว่าเร็ว ๆ นี้ก็จะต้องปรับฐาน เหมือนกับที่เคยเป็นมาในอดีตเช่นปี 2017-2018 ในมุมมองของผม Cycle นี้ของบิตคอยน์ยังไม่จบ ฟองสบู่บิตคอยน์ยังไม่แตก และจะสามารถทำ New High ได้อีก! JP Morgan ออกมายอมรับว่าบิตคอยน์จะเป็นการลงทุนที่ดีและบอกว่าราคาอาจจะขึ้นไปถึง $146,000 ในระยะยาว”

ปรมินทร์ วิเคราะห์ว่า การที่บิตคอยน์ทำราคาสูงสุดใหม่หลายครั้งนั้น ตลาดกำลังส่งสัญญาณว่าความสำคัญของเหล่าวาฬนักลงทุนรายใหญ่ (Big Whale ) เริ่มลดบทบาทลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันผู้เล่นรายใหญ่และหน้าใหม่ ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบัน (Hedge Funds, Asset Management, Corporates ) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 เป็นต้นมา

“ผมเคยบอกมาตลอดว่า บิตคอยน์ จะเป็นสิ่งที่หายากขึ้นไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้ แต่คือปัจจุบันนี้แล้ว ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาบิตคอยน์ประมาณ 270,000 บิตคอยน์ มูลค่า $ 9.4 พันล้าน หรือ ประมาณเกือบ 3แสนล้านบาท ได้ถูกโอนออกจากกระดานเทรด (Exchange) ไปเก็บข้างนอกแทน ซึ่งต้องบอกเลยว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก เพราะมากกว่า 1% ของจำนวนบิตคอยน์ที่ถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมด 21 ล้านเหรียญ ถูกย้ายไปยังนักลงทุนสถาบันการเงินหรือ Whale ที่เป็นผู้ถือบิตคอยน์ระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ Grayscale Bitcoin Trust ถือบิตคอยน์มากกว่า 600,000 BTC หรือเรียกได้ว่ามากกว่า 3% ของบิตคอยน์ในตลาดโลกอยู่ในมือ Grayscale”

“ซึ่งนั่นแปลว่าบิตคอยน์จะขึ้นหรือลงในตลาดตอนนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนเงินเยอะในการดันหรือทุบราคา ถ้าวาฬจะทุบเพื่อ Shake Out จากรายย่อยก็ไม่ต้องใช้เงินมาก หรือจะลากให้ราคาขึ้น เพื่อให้รายย่อยเข้าตามก็ไม่ต้องใช้เงินมากเช่นกัน ดังนั้นตลาดร้อนแรง ความเสี่ยงสูง นักลงทุนต้องบริหารเงินให้เป็น” ปรมินทร์ กล่าวเตือน

“จะเห็นได้ว่าราคาบิตคอยน์นั้นผันผวนแรงจาก $ 42,000 ลงมาต่ำกว่า$ 30,000 นั้นเป็นไปได้ภายในเวลาไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแล้วเงินที่จะนำมาใช้ลงทุนในคริปโต ผมแนะนำว่าควรจะเป็นเงินเย็น เป็นเงินที่เรายอมรับได้ถ้าเกิดการสูญเสีย เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือเงินที่ไปกู้มาผมก็ยังยืนยันว่าไม่ควรเสี่ยงเด็ดขาด ต่อให้รู้ว่าตลาดมันจะขึ้นก็ตาม นักลงทุนมือใหม่ควรศึกษาหาความรู้ให้เข้าใจ เทรดแบบมองข้อมูลเชิงพื้นฐานและศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้วยเพื่อป้องกันความเสี่ยง ที่สำคัญคือต้องใช้สติและวิจารณญาณในการลงทุน”

เหตุผลสำคัญ 3 ข้อ ที่ทำให้ บิตคอยน์จะไม่ลงไปต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหมือนช่วงปี 2018 – ก่อนไตรมาสที่ 4 ปี 2020 ก็คือ1) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนมาก เพราะสหรัฐฯกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ใช้ทั้งนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และนโยบายการคลังที่ผ่านสภาคองเกรส แบบมโหฬาร นโยบายของ Joe Biden คือผลิตเงินขึ้นมาอีกสามล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้หลาย ๆ บริษัทและนักลงทุนต้องหาทางลดสภาพคล่องด้วยการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการเก็บเงินสด

2) บิตคอยน์คือสินทรัพย์คงคลังตัวใหม่ บริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะ Reserve Asset มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดถ้าเทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด BlackRock ซึ่งเป็นผู้จัดการสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดก็เข้ามาในตลาดบิตคอยน์แล้ว โดยกำลังเตรียมการเข้าสู่ตลาดอนุพันธ์หรือ Bitcoin Futures รวมถึงได้ยื่นหนังสือถึงก.ล.ต.สหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ BlackRock Funds V และ BlackRock Global Allocation Fund, Inc. ซึ่งBlackRock มี Assets under management: 7.81 trillion USD หรือประมาณ 234 ล้านล้านบาท

3) สินทรัพย์ดิจิทัล เริ่มมีช่องทางการเข้าถึงที่แพร่หลายสู่ผู้ใช้ทั่วโลกมากขึ้น ผ่าน Paypal ที่มีทั้ง 20 ล้าน ร้านค้า และ สมาชิกผู้ใช้ทั่วโลกประจำอยู่ 346 ล้านสมาชิก รวมไปถึงความร่วมมือของ Visa และ USDC ซึ่งจะทำให้ร้านค้าจำนวน 60 ล้าน ร้านค้าทั่วโลกเข้าถึงการใช้เงินคริปโตได้

“เรากำลังอยู่ในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง และปีนี้บิตคอยน์และคริปโตเคอรร์เรนซี่จะถูกยอมรับโดยคนทั่วโลก เป็น Mass Adoption มากขึ้น และอยากฝากว่านักลงทุนมือใหม่อย่าหลงเชื่อคนที่มาชวนลงทุนแบบตรวจสอบไม่ได้ จะซื้อขายให้ปลอดภัย ต้องผ่านเว็บเทรดที่ ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจาก ก.ล.ต อย่าง Satang Pro ที่เน้นการพัฒนาระบบความเสถียร รวดเร็ว ตลอดจนรักษามาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลและสินทรัพย์ของลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง” ปรมินทร์ สรุป

แหล่งข่าว https://www.banmuang.co.th/news/finance/220426